21 - 24 มิถุนายน 2566

5G ไทยฉลุย ดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์พุ่ง

ข้อมูลจากสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ระบุว่า ภายในปี 2568 เทคโนโลยี 5G จะมีสัดส่วนสูงถึง 14% ของตลาดการสื่อสารเชื่อมต่อทั้งหมด ขณะที่ส่วนแบ่งการเชื่อมต่อดังกล่าวในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น  23% โดยสูงกว่าส่วนแบ่งเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่น่ายินดี เพราะช่วยหนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรีชี้ว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2564-2566 คาดว่าจะกลับมาขยายตัว ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และเนื่องจากการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G หลังจากเมื่อปี 2563 ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ ขณะที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและ นวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เพื่อนำพาประเทศชาติก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ5G Thailand pushes the electronics industry up

นอกจากนี้ การเติบโตของยานยนต์อัจฉริยะที่นำไปสู่การใช้งานสินค้าไฮเทคทั้งหลายที่เชื่อมต่อกับ Internet of Things (IoT) ส่งผลให้ความต้องการแผงวงจรไฟฟ้าเติบโตดี รวมถึงฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีความจุสูงที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น จากการใช้งานคลาวด์ คอมพิวติง และดาต้า เซ็นเตอร์  ขณะที่ความต้องการในสินค้าไอทีที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แล็ปท็อป และแท็บเล็ต ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน อันเป็นผลมาจากนโยบายทำงานที่บ้านของบริษัทต่าง ๆ และองค์กรภาครัฐ รวมถึงการเรียนออนไลน์ของสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

จากปัจจัยบวกดังกล่าว ได้ส่งผลให้บริษัทไอทีระดับโลกอย่าง Apple ตัดสินใจเปิดฐานการผลิตบางส่วนในไทย โดยจากรายงานของ MacThai ระบุว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่รับสมัครในปีนี้ อยู่ในแผนกการปฏิบัติการและซัพพลายเชน แสดงให้เห็นว่า Apple   ต้องการทีมงานที่เข้ามาดูแลการผลิต และประสานงานกับโรงงานต่าง ๆ ซึ่งเดิมทีตำแหน่งเหล่านี้เปิดรับสมัครในประเทศจีน หรือประเทศที่ Apple ไปตั้งฐานการผลิตสินค้า ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็พบว่า iMac M1 รุ่นใหม่ ที่ด้านล่างของเครื่อง มีป้ายเขียนกำกับว่า “Design by Apple in California, Made in Thailand” จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับรายงานนี้

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยมีสัดส่วน 90-95% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในประเทศ ผู้ผลิตรายใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 31% ของจำนวนผู้ผลิตทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติและบริษัทร่วมทุน มีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน เช่น แคนนอน ไฮ-เทค, เวสเทิร์น ดิจิทัล, โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ และซีเกท เทคโนโลยี เป็นต้น รวมถึงผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง เช่น เอสวีไอ, ธานินทร์ เอลน่า และเคซีอี อินเตอร์เนชันแนล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 13 ของโลก แต่กลับมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.8% ของมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของโลก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ของไทย โดยมากเป็นเพียงการรับจ้างประกอบ หรือรับเหมาช่วงให้กับบริษัทจากต่างประเทศ เพราะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางของไทยยังมีข้อจำกัดที่จะผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของตัวเองได้ เนื่องจากขาดเทคโนโลยีต้นน้ำซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญและมีองค์ความรู้ในด้านนี้อย่างถ่องแท้ จะช่วยต่อยอดและเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสอีเอ็มไทยในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

กระนั้น การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในไทยของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ  นอกจากจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว  ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งาน เช่นความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Huawei ยักษ์ใหญ่ 5G ของโลกจากจีน ที่จับมือคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นนำหลากหลายประเภท อาทิ  5G คลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับสาธารณสุขไทยให้ก้าวสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะเต็มรูปแบบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยเหล่านี้ในการการติดตามคนไข้  เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล  โทรเวชกรรม การผ่าตัดทางไกล การวินิจฉัยโรค และอื่น ๆ

ขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างชาติอีกรายที่น่าสนใจคือ ZTE Corporation บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน ผู้ให้บริการโซลูชั่นระดับโลกในด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่สำหรับลูกค้าองค์กรและผู้บริโภค ก็ได้นำเสนอแพลตฟอร์มบริการจัดการโรงงานอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยตัวอย่างที่น่าสนใจที่ ZTE ทำให้การใช้งาน 5G ของไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องเน้นการรักษาระยะห่างทางสังคม เพิ่มขึ้นก็คือ การใช้ 5G พร้อมกับ HD video และ Augmented Reality (AR) เพื่อช่วยให้บุคลากรที่ต้องลงปฏิบัติงานในพื้นที่หน้างาน สามารถทำงานโดยได้รับการสนับสนุนแบบเรียลไทม์จากทีมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่หน้าไซต์งาน และยังมีประโยชน์ในอีกหลายด้าน เช่น การออกแบบ การผลิต การตรวจสอบ การซ่อมบำรุง การระดมความคิดเห็น และการฝึกอบรมอีกด้วย ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนด้านบุคลากรจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระยะไกล เพราะทำให้ลดความต้องการในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ได้มากกว่า 30% เช่นการใช้หุ่นยนต์ลาดตระเวนเพื่อตรวจตราความปลอดภัยแบบ 5G เพียง 1 ตัว สามารถทดแทน รปภ. ได้ 3-4 คน โดยหุ่นยนต์อัจฉริยะนี้สามารถส่งภาพ 360 องศา รายงานความเคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง ด้วยความชัด 4K และสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ได้เองอย่างคล่องแคล่ว

ส่วนผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ที่อยู่นอกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็นำ 5G ไปใช้อย่างจริงจังเช่นกัน เช่น AIS ที่ร่วมกับ SCG และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเทคโนโลยี 5G มายกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการพัฒนารถยกต้นแบบไร้คนขับ ให้สามารถควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G จาก SCG สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ - โรงงานของเอสซีจี จ.สระบุรี โดยที่ผู้ควบคุมรถยกไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถยกให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แม่นยำแบบเรียลไทม์  ช่วยให้ธุรกิจต่อยอดไปสู่การฝึกอบรมพนักงานทางไกล และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานที่มีความเสี่ยงสูงได้มากขึ้น นับเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แม้ 5G จะกำลังไปได้สวยในไทย แต่อุปสรรคของการขาดแคลนชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แม้สำนักวิจัยหลายแห่งได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากผู้ผลิตในหลายประเทศเริ่มขยายกำลังการผลิตมากขึ้น กอปรกับในช่วงต้นปี 2564 รัฐบาลของประเทศผู้นำอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาสหรัฐฯ ต่างเร่งสนับสนุนการลงทุนเพื่อขยายการผลิตชิปภายในประเทศเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้ แต่เจพีมอร์แกนกลับเห็นแย้ง โดยวิเคราะห์ว่าภาวะขาดแคลนชิปทั่วโลก มีแนวโน้มยืดเยื้อต่อเนื่องจนถึงปี 2565  โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่กำลังการผลิตชิปทั่วโลกยังขาดแคลนอยู่ แต่สถานการณ์จะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง เนื่องจากโรงงานทั่วโลกเริ่มดำเนินการผลิตได้เต็มศักยภาพ

หากคุณผู้อ่านต้องการติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับ 5G อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนประเด็นน่าสนใจอื่น ๆ ในโลกอุตสาหกรรม ต้องไม่พลาด ME Blogs ในครั้งต่อไปครับ รวมถึงเตรียมพบกับ NEPCON Thailand 2022 งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการประกอบ การวัด และการทดสอบคุณภาพ เพื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 1 แห่งอาเซียน ในวันที่ 22-25 มิถุนายน 2565 ที่ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ