19-22 มิถุนายน 2567

5 แนวโน้มที่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องวางแผนรับมือในปี 2566


- เศรษฐกิจโลกยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องตระหนักและปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ระวังการขาดแคลนวัตถุดิบจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
- ให้ความสำคัญกับการผลิตภายในประเทศตัวเอง เพื่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน
- ขานรับพฤติกรรมผู้บริโภคและมาตรการภาครัฐ ด้วยการเดินหน้าสู่การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืน
- ปฏิเสธ Digitalization ไม่ได้ เพราะช่วยให้บริการจัดการกระบวนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน-รัสเซีย โควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้จะต้องตระหนักและวางแผนรับมือเป็นอย่างดี เพื่อวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสำหรับปี 2566 นี้ และปีต่อ ๆ ไป คือ แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 5 ประการต่อไปนี้

 

1. ผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อต่อการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

จากรายงาน Global Sentiment of the Electronics Supply Chain ของ IPC 2565 พบว่า 86% ของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ และผู้ผลิต 9 ใน 10 รายประสบปัญหาต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้นแล้ว ขณะที่ต้นทุนด้านแรงงานยังเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการจ้างและรักษาพนักงานมืออาชีพก็ยากขึ้นเช่นกัน

 

นอกจากนี้ แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นจนผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องขึ้นราคาสินค้า แต่ก็จำเป็นต้องคงความสามารถในการแข่งขันไว้ให้ได้ และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองควบคุมและปรับปรุงได้ เช่น การปรับกระบวนการภายในให้เหมาะสม ใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และทำให้กระบวนการดำเนินการโดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นดิจิทัล (Digitalization) เพราะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการ ใช้สินทรัพย์ และสินค้าคงคลังได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเครื่องมือและกระบวนการอัตโนมัติ

 

2. ความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ความต้องการในตลาดหลายแห่งก็ชะลอตัวลง ทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ความไม่แน่นอนดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดความระมัดระวังในการทำธุรกิจของคู่ค้า ส่งผลให้คำสั่งซื้อมีขนาดเล็กหรือมีปริมาณน้อยลง นอกจากนี้แม้แต่คำสั่งซื้อจำนวนมาก ผู้ผลิตก็ต้องมีความสามารถผลิตให้ได้ในแบทช์ (batch) ที่เล็กลง

 

3. การย้ายฐานผลิตออกจากจีน ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบ ส่งผลให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง

ในช่วงปี 2565 จีนยังคงต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และยังคงใช้นโยบาย “Zero COVID” ซึ่งผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ตามรายงานของ CNBC ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาระบุว่าคำสั่งซื้อการผลิตของสหรัฐอเมริกาจากจีนลดลงถึง 40% และการควบคุมการส่งออกใหม่ของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิปกำลังขัดขวางแผนการของจีนในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนความสามารถในการผลิตชิปขั้นสูง

 

ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่บางรายวางแผนที่จะกระจายเครือข่ายการจัดหาและย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เช่น แผนการของ Apple ที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังอินเดีย แต่กระบวนการนี้ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นได้รวดเร็ว บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องวางแผนสำหรับการขาดแคลนส่วนประกอบ/วัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้โซลูชันที่ให้การมองเห็นวัสดุอย่างเต็มรูปแบบในคลังสินค้าและในโรงงาน ซึ่งสามารถรับประกันการใช้วัสดุอย่างเหมาะสม กระนั้น หลังจากจีนประกาศเปิดประเทศอีกครั้ง ต้องจับตาดูว่าแผนการย้ายโรงงานของบริษัทต่าง ๆ จะยังคงเดิมหรือยกเลิกไป

 

4. ถึงเวลาฟื้นฟูการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศตัวเอง

ค่าแรงในจีนเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และค่าขนส่งก็พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ผลักดันให้ผู้ผลิตหลายรายพิจารณาสถานที่ผลิตใหม่ โดยเฉพาะภายในประเทศตัวเอง ซึ่งการปรับแนวรบทางธุรกิจใหม่ช่วยในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ควบคุมคุณภาพการผลิตดีขึ้น ระยะเวลาการส่งมอบที่สั้นลง  ต้นทุนการขนส่งที่ลดลง และการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและซัพพลายเออร์เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

 

5. ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งคิดเป็น 4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค  รวมถึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐที่จะมีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าเดิม ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ขณะที่การวิเคราะห์การผลิตอย่างละเอียดถี่ถ้วนช่วยระบุและกำจัดวัสดุและพลังงานส่วนเกินที่ใช้ในกระบวนการผลิตต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้

กล่าวโดยสรุปในภูมิทัศน์การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความจำเป็นในการเปลี่ยนเป็นดิจิทัลนั้นไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป เพราะกระบวนการดิจิทัลให้โอกาสในการเพิ่มกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมการดำเนินงานในสายการผลิตและไซต์การผลิตได้

หากคุณผู้อ่านต้องการอัพเดทข่าวคราวเกี่ยวกับ 5G อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนประเด็นน่าสนใจอื่น ๆ ในโลกอุตสาหกรรม ต้องไม่พลาดติดตาม NEPCON Blog อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพบกับ "เนปคอนไทยแลนด์ 2023" งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการประกอบ การวัด และการทดสอบคุณภาพ เพื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 1 แห่งอาเซียน ภายใต้งาน “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป” ในวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 ณ ไบเทค บางนา


ที่มา

https://blogs.sw.siemens.com/valor/2023/01/17/5-trends-electronics-industry-2023/

https://go.ipc.org/hubfs/The%20Current%20Sentiment%20of%20the%20Global%20Electronics%20Manufacturing%20Supply%20Chain%20IPC%20July%202022.pdf