จับตาสถานการณ์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกในปี 2566
- สหรัฐอเมริกาเดินเกมอันตรายต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ด้วยการสั่งจำกัดการส่งออกชิปไปยังจีน
- การกีดกันทางการค้าจะทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น
- ในขณะที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และฟีเจอร์ที่ครบครัน ในราคาที่จับต้องได้ แต่ปัจจัยลบต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างราคาที่นำเสนอและต้นทุนที่ต้องแบกรับได้
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อาศัยห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการหยุดชะงักได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ข้อพิพาททางการค้า ภัยธรรมชาติ และความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลกระทบต่อความพร้อมในการผลิต จัดจำหน่าย รวมถึงต้นทุนของชิ้นส่วนและวัสดุอิเล็กทรอนิกส์
ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำกัดการส่งออกชิปและอุปกรณ์ขั้นสูงที่เป็นวัสดุสำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีน โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ และมีวี่แววว่าเนเธอร์แลนด์ รวมถึงญี่ปุ่นจะตามรอยมาตรการนี้อีกไม่นาน จึงคาดว่าจะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทั่วโลก รวมถึงอาจเป็นคมหอกที่กลับมาทิ่มแทงสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก แน่นอนว่ามาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าวจะเพิ่มความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ให้กับห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงระยะเวลารอคอยสินค้าที่เพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นด้วย
ริว ยองวุ๊ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Lee Kuan Yew School of Public Policy ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่าชิปมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟนและเครื่องดูดฝุ่น ขณะที่ปัจจุบัน จีนบริโภคชิปทั่วโลกมากกว่า 50% แต่ผลิตได้เพียง 15% ของชิปที่ผลิตได้ทั่วโลกเท่านั้น ที่สำคัญจีนขาดความสามารถในการผลิตชิปขั้นสูงที่มีขนาด 7 นาโนเมตร จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไต้หวันและเกาหลีใต้เกือบ 100%
ด้าน หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เรียกความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาว่ามีความพยายามที่จะปิดล้อมทางเทคโนโลยี และสหรัฐอเมริกาในฐานะ “แชมป์การค้าเสรี” ได้สูญเสีย “พื้นฐานทางศีลธรรม” ไปกับนโยบายชิปที่คว่ำบาตรบริษัทจีน
"การกระทำที่ไร้เหตุผลของสหรัฐอเมริกาจะปลุกระดมเยาวชนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน ให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการทำลายกำแพงเทคโนโลยี เพราะขณะนี้มีเยาวชนจำนวนมากกำลังศึกษาและวิจัยด้านนี้” เกา ยูซัน นักศึกษาปริญญาโทด้าน AI จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง วัย 23 ปี กล่าว
นอกจากนี้ ในขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และฟีเจอร์ครบครันมากขึ้น แต่ก็สวนทางกับราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น กล่าวคือ ผู้บริโภคต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติดีงามในทุกด้านแต่ไม่ใช่ในราคาที่เกินเอื้อม หรือแพงหูฉี่ ซึ่งผู้ผลิตต้องเผชิญกับความกดดัน เพราะราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นจนไม่อาจควบคุมต้นทุนได้ดีพอที่จะทำราคาได้โดนใจผู้บริโภค
ขณะที่จากการเพิ่มจำนวนของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อและ IoT ทำให้มีความเสี่ยงของการละเมิดความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงจำเป็นต้องลงทุนในมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ทรัพย์สินทางปัญญา และความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค เพราะความเพลี่ยงพล้ำทางไซเบอร์เพียงครั้งเดียวอาจส่งผลร้ายแรงต่อทั้งบริษัทและผู้บริโภค
กระนั้น อาจฟังดูเหมือนย้อนแยง แม้ผู้บริโภคจะมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวข้างต้น แต่ก็มีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะหยุดพักการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ชั่วคราว โดยเฉพาะแล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงอื่น ๆ ที่ใช้งานภายในบ้าน สาเหตุหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นที่ผันผวน และความกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566
นั่นหมายความว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกในปีนี้จะได้รับแรงกดดันมากกว่าเคยจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา การวางแผนบริหารห่วงโซอุปทานที่มีความยืดหยุ่น และการกระจายความเสี่ยงจึงมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมนี้
หากต้องการอัพเดทข่าวคราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องไม่พลาดติดตาม NEP Blog อย่างต่อเนื่อง รวมถึง "เนปคอนไทยแลนด์ 2023" งานแสดงเทคโนโลยีและผู้ให้บริการรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทคโนโลยีการตรวจวัด ชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ของอาเซียน ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากกว่า 420 แบรนด์ทั่วโลก และขอเชิญผู้สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าได้แล้ววันนี้ แล้วพบกันในวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 ณ ไบเทค บางนา
ที่มา