18-21 มิถุนายน 2568

จับตาเทคโนโลยีชั้นนำเพื่อการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2025

  • ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะผลิตแรงงานเพื่อป้อนอุตสาหกรรมขั้นสูง ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และปัญญาประดิษฐ์
  • ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะทุ่มเทความพยายามมากขึ้นในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ความทนทาน และความยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ของตน
  • ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีที่ใหม่และสร้างสรรค์มาใช้เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันในตลาด

กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ในปี 2568 รัฐบาลไทยวางแผนเดินหน้าเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเพิ่ม GDP ให้สูงขึ้นกว่า 3% โดยตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industries) การลงทุนด้านศูนย์ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เอไอขนาดใหญ่ (Data Center) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยนอกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มาลงทุนในไทยแล้ว เช่น AWS, Google, Microsoft, Huawei รัฐฯ ก็วางแผนจะกระตุ้นการลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการวิจัยและพัฒนา (R&D) อีกด้วย

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ รัฐบาลไทยตั้งเป้าที่จะผลิตแรงงาน 280,000 คนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมขั้นสูงภายใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมกับพัฒนาระบบนิเวศที่รองรับการลงทุนใหม่ๆ โดยในจำนวนนี้ 80,000 คนจะพัฒนาเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อีก 150,000 คนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 50,000 คนสำหรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)

อุตสาหกรรมขั้นสูงเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานจากวิวัฒนาการด้านนวัตกรรม ดังนั้น การปรับใช้วัสดุเชิงก้าวหน้า ระบบอัจฉริยะ และโซลูชันที่ยั่งยืนจากผู้พัฒนาเทคโนโลยีจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ศักยภาพ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ต่อไปนี้คือ 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตาซึ่งจะกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์:

  1. วัสดุเชิงก้าวหน้า (Advanced Materials)
    วัสดุทางเลือก เช่น กราฟีน (graphene) คาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotubes) และแกเลียมไนไตรด์ (GaN) ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อชดเชยข้อจำกัดของซิลิกอนในเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้สามารถผลิตวงจรรวมประสิทธิภาพสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม และโครงข่ายพลังงานได้ ตัวอย่างหนึ่งคือการนำคาร์บอนนาโนทิวบ์มาใช้ในเชิงพาณิชย์โดยบริษัท SixLine Semiconductor ซึ่งทำให้สามารถผลิตช่องทรานซิสเตอร์ประสิทธิภาพสูงจำนวนมากได้ และยังนำไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์ไร้สาย คอมพิวเตอร์ และเซ็นเซอร์อีกด้วย
  2. อิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (Organic Electronics)
    อิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่น คุ้มค่าต้นทุนและย่อยสลายได้ จึงตอบสนองภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่น Flask คือหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ผ่านวัสดุต่างๆ เช่น วัสดุสำหรับส่งผ่านอิเล็กตรอน วัสดุสำหรับฉีดอิเล็กตรอน วัสดุเปล่งแสง วัสดุเคลือบ และวัสดุอินทรีย์สำหรับโซล่าร์เซลล์ซึ่งมีความยั่งยืนสำหรับลูกค้า
  3. ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
    AI ได้เข้ามาปฏิวัติการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยการปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดข้อบกพร่อง ปรับระบบการทำงานให้เป็นอัตโนมัติ และช่วยในการบำรุงรักษาเครื่องจักรเชิงคาดการณ์ ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งนำเสนอโซลูชัน AI ซึ่งรวมถึง Cybord สตาร์ทอัพจากอิสราเอลที่นำเสนอซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบส่วนประกอบด้วย AI หรือ Celus ซึ่งเป็นบริษัทจากเยอรมนีที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับกระบวนการทางวิศวกรรมให้เป็นอัตโนมัติด้วยแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI
  4. อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)
    IoT ส่งเสริมระบบนิเวศการผลิตที่เชื่อมต่อกัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเซ็นเซอร์และทำให้ผู้ผลิตสามารถใช้เครื่องมือที่ชาญฉลาดมากขึ้น การเติบโตของคลื่น 5G ยิ่งเสริมประสิทธิภาพของ IoT ทำให้เกิดชิปที่ประหยัดพลังงานและทันสมัย บริษัท AnalogueSmith ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ได้นำเสนอการผสานรวม RF อนาล็อก และฟังก์ชันดิจิทัลสำหรับวงจรรวมโดยใช้เมทัลออกไซด์เซมิคอนดักเตอร์ (CMOS) และเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในด้านนี้
  5. สมองกลฝังตัว (Embedded Systems)
    สมองกลฝังตัวมีความจำเป็นต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ การเชื่อมต่อ และความปลอดภัย บริษัทสตาร์ทอัพ เช่น Luos จากฝรั่งเศสได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโอเพ่นซอร์สและออร์เคสตราเตอร์แบบเรียลไทม์สำหรับสถาปัตยกรรมแบบกระจายเพื่อการออกแบบ ทดสอบ และปรับใช้แอปพลิเคชันฝังตัวได้อย่างง่ายดาย
  6. อิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ (Printed Electronics)
    เทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ เช่น การแยกชั้น การหลอมด้วยโฟโตนิก การพิมพ์สเตนซิล การประกอบชิ้นส่วน และอื่นๆ อีกมาก กำลังเปลี่ยนโฉมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน วิธีการเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนขณะที่สร้างชิ้นงานต้นแบบได้เร็วขึ้น ดังเห็นได้จากบริษัท Omniply จากแคนาดาและ TracXon จากเนเธอร์แลนด์ที่นำเสนอเทคนิคที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับอิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์
  7. บรรจุภัณฑ์ IC ขั้นสูง (Advanced IC Packaging)
    เทคโนโลยีการบรรจุวงจรรวมขั้นสูง (IC) เกิดขึ้นจากการวางส่วนประกอบหลายชิ้นลงในแพ็คเกจขนาดเล็กเพื่อเอาชนะขีดจำกัดของการปรับขนาดแบบเดิม บริษัทสตาร์ทอัพ เช่น PHIX และ Onto Innovation ได้สร้างชื่อโดยการให้บริการประกอบและบรรจุภัณฑ์ขั้นสูงแก่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมโฟโตนิก
  8. อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก (Miniaturized Electronics)
    ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพและยานยนต์ บริษัทสตาร์ทอัพ เช่น AlixLabs ได้นำเสนอวิธีการกัดชั้นอะตอม (ALE) สำหรับการผลิตโครงสร้างระดับนาโน ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพเช่น Spectricity เน้นการนำเสนอโซลูชันเพื่อตรวจจับสเปกตรัมแบบบูรณาการขนาดเล็ก
  9. การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing)
    การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) ได้ปฏิวัติวงการอิเล็กทรอนิกส์โดยส่งเสริมการผลิตชิ้นงานที่ซับซ้อนและหลากหลาย ช่วยเร่งความเร็วในการสร้างงานต้นแบบ ลดงานประกอบ และช่วยให้ผลิตชิ้นส่วนที่ต้องการความแม่นยำสูงเฉพาะจุดได้ โดยบริษัท Vanguard Photonics จากเยอรมนีได้ให้บริการเทคโนโลยีการผลิตนาโน 3 มิติสำหรับการผสานโฟโตนิก และบริษัท ATLANT 3D Nanosystems ได้พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติแบบชั้นอะตอมที่ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนาและผลิตวัสดุ อุปกรณ์ และไมโครซิสเต็มได้อย่างแม่นยำ
  10. เทคโนโลยีเสมือนจริง (Immersive Technologies)
    เทคโนโลยีเสมือนจริงสามารถช่วยตรวจจับข้อผิดพลาดตั้งแต่ระยะแรกของการออกแบบ และช่วยส่งเสริมขั้นตอนการประกอบและทดสอบ นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงการฝึกอบรมและเวิร์กโฟลว์ของกระบวนการทำงาน โดยบริษัท inspectAR ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติแคนาดาก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ให้บริการชุดเครื่องมือ AR สำหรับการผลิต PCB และการทดสอบเวิร์กโฟลว์

ในยุคนี้ ยากที่จะปฏิเสธว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีเช่นวัสดุเชิงก้าวหน้า AI หรือ IoT ล้วนสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่อัจฉริยะขึ้น มีขนาดเล็กลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น นี่จึงเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมควรพิจารณานำมาใช้ และอย่าพลาด NEPCON Blog ฉบับต่อๆ ไปเพื่อไม่พลาดข่าวสารในวงการ 

แล้วเตรียมตัวมาพบกันที่งาน เนปคอน ไทยแลนด์ 2025 ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2025 ที่ไบเทค บางนา เพื่อขยายเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร้ขีดจำกัดและพบปะว่าที่พันธมิตรทางการค้าของคุณในอนาคต!